WelcometoKrabi http://krabi.siam2web.com/
   
 
 

ประวัติความเป็นมาจังหวัดกรบี่

จังหวัดกระบี่ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก คือทะเลอันดามัน ติดต่อกับจังหวัดพังงา และสุราษฎร์ธานีทางด้านทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดตรังทางด้านทิศใต้ และติดต่อกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจังหวัดนครศรีธรรมราชทางด้านตะวันออก

ตัวจังหวัด ตั้งอยู่ระหว่างแนวเทือกเขาที่สำคัญของภาคใต้สองแนวคือ แนวเทือกเขาภูเก็ตอยู่ทางทิศตะวันตก แนวเทือกเขานครศรีธรรมราชอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจาก เทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ส่วนใหญ่มีภูเขาหินปูนเป็นลูกโดด ๆ เตี้ย ๆ มีถ้ำหินปูน บ่อน้ำร้อนและแอ่งน้ำที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน สลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด ที่ราบเชิงเขาที่ลาดเอียงไปทางชายฝั่งด้านใต้ และด้านตะวันตก และที่ราบแคบ ๆ แถบชายฝั่ง
พื้นที่ตอนกลางมีแนวภูเขาที่สำคัญคือ ภูเขาพนมเบญจาอยู่ในเทือกเขาภูเก็ต วางตัวอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ เป็นภูเขาที่มียอดเขาสูงสุดในแนวเทือกเขาภูเก็ต คือสูง ๑,๔๐๐ เมตร เป็นแนวสันปันน้ำ ด้านตะวันตกไหลลงสู่อ่าวพังงา ด้านตะวันออกไหลลงสู่แม่น้ำกระบุรี ด้านทิศเหนือไหลลงสู่แม่น้ำตาปี ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จังหวัดกระบี่มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร เป็นชายฝั่งทะเลยุบตัวอันเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใกล้กับแนวแผ่นดิน มีลักษณะเว้าแหว่ง และสูงชันต่างกัน บางบริเวณมีภูเขาติดกับชายฝั่งทะเล เช่น เขากาโรส และมีเกาะอยู่นอกชายฝั่งอยู่ถึง ๑๓๐ เกาะ ในบรรดาเกาะดังกล่าวมีผู้คนอาศัยอยู่เพียง ๑๓ เกาะ เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตา เกาะจำ เกาะพี - พี เกาะศรีบอยา เกาะไหง ฯลฯ
พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนไหล่ทวีปผืนแคบ ๆ มีหาดทรายอยู่น้อย มีบางบริเวณถูกแรงบีบอัดของเปลือกโลก ทำให้ท้องทะเลเดิมถูกยกตัวขึ้นมาอยู่บนชายฝั่ง เช่น พื้นที่บริเวณสุสานหอย ๗๕ ล้านปี ที่บ้านแหลมโพธิ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง ฯ

เมืองกระบี่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างที่บ้านปกาไส ต่อมามีผู้คนมากขึ้นก็ยกฐานะเป็นแขวงเมือง แล้วได้รวบรวมแขวงเมืองต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงยกฐานะขึ้นเป็นเมืองกระบี่ แต่เนื่องจากไม่มีรายละเอียดว่าเป็นปลัดท่านใด จึงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาลงไปได้ อย่างไรก็ตามก็มีการสันนิษฐานว่า การตั้งเพนียดจับช้างที่ปกาไสนั้นน่าจะเกิดปลายสมัยเจ้าพระยานคร (พัด) ซึ่งปกครองเมืองนคร ฯ อยู่ ๒๗ ปี ถึง พ.ศ.๒๓๕๔

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะแขวงเมืองปกาสัยขึ้นเป็นเมืองและทรงพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” โดยให้ตั้งที่ทำการบริหารราชการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่(บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองของเมืองนครศรีธรรมราช มีเจ้าเมืองคนแรกชื่อหลวงเทพเสนา และต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แยกเมืองกระบี่ ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
สำหรับการตั้งเมืองนั้น เมื่อ พ.ศ. 2433 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอ ซิบบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาล ประสงค์จะให้เมืองอยู่ใกล้กับท่าเรือสามารถติดต่อกับต่างประเทศได้สะดวกจึงได้ย้ายศาลากลางจากตลาดเก่ามาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน

ต่อมาปี พ.ศ. 2475 ศาลากลางหลังเก่าทรุดโทรมมากจึงได้ตั้งขึ้นใหม่ ณ ริมแม่น้ำกระบี่ ตำบลปากน้ำ ตรงข้ามที่ดั้งเดิมไปทางทิศตะวันออก

ปัจจุบันนี้ เมืองเจริญขึ้น ศาลากลางหลังเก่าคับแคบ และทรุดโทรม จึงได้สร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่ขึ้น หันหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2510ความหมายของคำว่า “กระบี่” มีตำนานเล่าลือกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบเล่มหนึ่ง ได้นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ ต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาษเล็กอีกเล่มหนึ่งรูปร่างคล้ายกับมีดดาบเล่มใหญ่ และได้นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ เช่นกัน เจ้าเมืองเห็นว่าควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล

แต่เนื่องจากขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จจึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางไขว้กัน ลักษณะการวางจึงกลายเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่ ในปัจจุบันยังมีการสันนิษฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับที่มาของชื่อ “กระบี่” ในความหมายที่แปลว่า “ลิง” ว่าเมืองกระบี่ก่อนแขวงเมืองปกาสัยเป็นที่ตั้งของเมือง “บันไทยสมอ” ซึ่งเป็นเมืองในสิบสองนักษัตรขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบันไทยสมอ ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมืองโดยถือเอาความหมายแห่งเมืองหน้าด่านปราการ เพราะลิงในสมัยก่อนถือว่ามีความองอาจกล้าหาญเทียบเท่าทหารกองหน้า เช่น บรรดาลิงแห่งกองทัพพระรามและในสภาพความเป็นจริงคนเฒ่าคนแก่ของเมืองกระบี่เล่าว่า ในสมัยก่อนมีลิงอยู่เป็นจำนวนมาก

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้เสด็จประพาสเมืองกระบี่ สมัยพระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) เป็นเจ้าเมือง ดังความปรากฏในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๓๕๒) พระองค์เสด็จโดยเรือถลาง ผ่านภูเก็ต พังงา มาถึงปากน้ำกระบี่ ทางเมืองกระบี่ได้จัดขบวนเรือยาวเรือพายเป็นขบวนต้อนรับเรือเข้าจอดท่าสะพานเจ้าฟ้าพระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการ ทอดพระเนตรถ้ำหนองกก ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าถ้ำเสด็จ ทอดพระเนตรการชนควาย มวยมลายู หนังตะลุง มโนราห์ และมะยง (มะโย่ง) วันรุ่งขึ้นเรือออกจากเมืองกระบี่ผ่านเกาะลันตา แหลมกรวด ทอดพระเนตรการงมหอยนางรม วันต่อมาเสด็จเกาะลันตา

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา มีกองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองกระบี่ ๒ แห่งคือที่บริเวณบ้านทุ่งแดง และบริเวณบ้านคลองหิน ใช้อาคารโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ หน่วยต่อต้านญี่ปุ่นในจังหวัดกระบี่ได้ประสานงานกับเสรีไทย ผลักดันให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกไป เรือกลไฟชื่อถ่องโห ซึ่งเดิมเป็นเรือสินค้าวิ่งขนส่งสินค้าระหว่าง ภูเก็ต - กระบี่ - ตรัง - ปีนัง ทหารญี่ปุ่นยึดเอาไปใช้ขนส่งทหารและสัมภาระ ได้ถูกตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรยิงจมที่บริเวณเกาะหัวขวานบริเวณทะเลกระบี่ ซากเรือยังจมอยู่ใต้น้ำมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงเวลาสงครามและหลังสงครามชาวกระบี่ขัดสนแร้นแค้นมากกว่าเมืองอื่น ๆ ถึงสองเท่าเพราะกระบี่ในสมัยนั้นมีความทุรกันดารเป็นปกติอยู่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการคมนาคมทางบก ติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ คงมีแต่เฉพาะทางเรือที่ติดต่อกับจังหวัด ภูเก็ต พังงา ระนอง ย่างกุ้ง ปีนัง สิงคโปร์

กระบี่เป็นเมืองช้างมาแต่โบราณ การตั้งเมืองขึ้นก็เนื่องมาจากการตั้งพะเนียดจับช้างของปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ชาวบ้านได้คล้องช้างที่บ้านป่าหนองเตา ตำบลลำทับ ปัจจุบันคือบ้านป่างาม ตำบลดินอุดม คล้องช้างได้ ๖ เชือก มีช้างเผือกรวมอยู่ด้วย ๑ เชือก เป็นเพศผู้ อายุประมาณ ๔ ปี ให้ชื่อว่าพลายแก้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางจังหวัดได้แจ้งไปทางองค์การสวนสัตว์ขอน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับการสมโภชน์ขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้นามว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ฯ เป็นช้างเผือกโท




- ข้อมูลทั่วไป

กระบี่ เมืองชายทะเลในฝันงดงามด้วยหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ปะการังสวย ถ้ำโตรกชะโงกผา และหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 100 เกาะ รวมกันเป็นมนต์เสน่ห์ที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน
กระบี่ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 814 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 4,708 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขา ที่ดอน ที่ราบ หมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 130 เกาะ อุดมไปด้วยป่าชายเลน ตัวเมือง กระบี่ มีแม่น้ำยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ไหลผ่านลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลปากน้ำ นอกจากนี้ยังมีคลองปกาสัย คลองกระบี่ใหญ่ และคลองกระบี่น้อย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดกระบี่ คือ เทือกเขาพนมเบญจา

จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานได้ว่าบริเวณเมือง กระบี่ เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเมือง กระบี่ ว่า อาจมาจากความหมายที่แปลว่าดาบ เนื่องจากมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับการขุดพบมีดดาบโบราณก่อนที่จะสร้างเมือง
ตัวเมือง กระบี่ เป็นเมืองที่มีภูมิทัศน์สวยงาม มีเขาขนาบน้ำที่เป็นจุดเด่นของเมืองคู่กับป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เขียวชอุ่ม ทำให้บรรยากาศดูร่มรื่นสบายตา นักท่องเที่ยวสามารถพายเรือแคนูเพื่อเป็นการพักผ่อนและออกกำลังกาย หรือในช่วงเย็นแดดร่ม อากาศสบาย ๆ สามารถเดินเล่นรับลมพร้อม ๆ กับนั่งรับประทานอาหารเย็นได้ที่ตลาดโต้รุ่ง บริเวณท่าเรือ เจ้าฟ้า และบริเวณตลาด ถนนมหาราช ก็มีอาหารพื้นเมืองให้รับประทาน ทั้งขนมจีนน้ำยา น้ำพริก แกงไตปลา ไก่ทอดพื้นเมืองรสชาติกลมกล่อม
และสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวตามหาดหรือเกาะต่าง ๆ เช่น หาดไร่เลย์ อ่าวนาง เกาะลันตา เกาะพีพี เกาะจำ และเกาะสีบอยา สามารถลงเรือโดยสารหรือติดต่อเช่าเรือได้ที่ท่าเรือเจ้าฟ้า ในอำเภอเมือง

ประวัติความเป็นมา

จังหวัดกระบี่ ตั้งขึ้นในปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจการปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า "แขวงเมืองปกาสัย" พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดมาตั้งค่ายทำพะเนียดจับช้างของท้องที่ตำบลปกาสัยและได้มีราษฏรจากเมืองนครศรีธรรมราช อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดได้ยกตำบลปกาสัยขึ้นเป็น "แขวงเมืองปกาสัย" ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช
ประมาณปี พ.ศ.2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัย และทรงพระราชทานนามว่า "เมืองกระบี่" เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้วโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมือง กระบี่ ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมือง กระบี่ คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2418 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมือง กระบี่ ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และในปี 2443 สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่าศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่านั้นไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึกเรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวก ทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้

ความหมายของคำว่า " กระบี่" มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณใหญ่เล่มหนึ่ง นำมามอบให้กับเจ้าเมือง กระบี่ และต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล็กอีกเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมือง กระบี่ เช่นกัน เจ้าเมือง กระบี่ เห็นว่าเป็นดาบโบราณสมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นศิริมงคล แต่ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จจึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางไขว้กัน ซี่งลักษณะการวางทำให้เป็นสัญลักษณ์ของตราประจำเมือง คือ ดาบไข้วทาบอยู่บนภูเขาขนาบน้ำ และบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า "บ้านกระบี่ใหญ่" บ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อ "บ้านกระบี่น้อย" แต่มีอีกตำนานหนึ่งสันนิษฐานว่าคำว่า "กระบี่" อาจเรียกชื่อตามพันธุ์ไม้ชนิด หนึ่งที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น "หลุมพี" เรียกชื่อว่า "บ้านหลุมพี" มีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายได้เรียกเพี้ยนเป็น "กะ-ลู-บี" หรือ "คอโลบี" ต่อมาได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า"กระบี่"

สัญญลักษณ์ ประจำจังหวัด

รูป กระบี่ ไขว้ เบื้องหลังมีภูเขาและทะเล
กระบี่ ไขว้ หมายถึง ดาบโบราณซึ่งครั้งหนึ่ง มีผู้ค้นพบในท้องที่จังหวัด
ภูเขา คือ เทือกเขาพนมเบญจาที่สูงสุดในแถบนั้นมีเมฆปกคลุมตลอดเวลา และกั้นเขตแดนกับจังหวัดอื่น
ทะเล คือ ชายอาณาเขตอีกด้านหนึ่งซึ่งติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย
จังหวัดกระบี่ ใช้อักษรย่อว่า "กบ"

ต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัด "ทุ้งฟ้า"

การเกษตร
- ยางพารา ในปี 2545 ผลิตได้จำนวน 195,966 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2544 จำนวน 6,072 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.20 โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกในปี 2545 เป็นจำนวน 879,689 ไร่ ลดลงจากปี 2544 เป็นจำนวน 7,558 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.85 และมีรายได้เฉลี่ย 4,039 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 87 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.20
- ปาล์มน้ำมัน ในปี 2545 ผลิตได้จำนวน 1,580,570 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2544 จำนวน 319,566 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 25.34 โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกในปี 2545 เท่ากับปี 2544 เป็นจำนวน 761,706 ไร่ และมีรายได้เฉลี่ย 2,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 540 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.34
- กาแฟ ในปี 2545 ผลิตได้จำนวน 11,318 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2544 จำนวน 1,323 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.24 โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกในปี 2545 เป็นจำนวน 41,478 ไร่ ลดลงจากปี 2544 เป็นจำนวน 141 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.34 และมีรายได้เฉลี่ย 285 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.78

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดตรังและทะเลอันดามัน
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราช
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดพังงาและทะเลอันดามัน

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 3,390 Today: 5 PageView/Month: 7

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...